12 ตุลาคม 2024

ไทยนิวส์พลัส , ThaiNewsPlus , ThaiNewsPlus.com

ไทยนิวส์พลัส , ThaiNewsPlus , ThaiNewsPlus.com

อินฟอร์มา เตรียมจัด “CPHI South East Asia 2022” ยก 200 หน่วยงานยาและเวชภัณฑ์ทั่วโลก ฉายภาพอุตสาหกรรมยาไทยสู่ศูนย์กลางทางการแพทย์แห่งภูมิภาค

1 min read

อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ (ประเทศไทย) ผนึกกำลังสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน กลุ่มอุตสาหกรรมยา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สำนักงานส่งเสริมการประชุมและนิทรรศการ  (สสปน.) เตรียมจัดงาน “ซีพีเอชไอ เซาธ์ อีสต์ เอเชีย 2022 (CPHI South East Asia 2022)”  งานแสดงวัตถุดิบและส่วนประกอบในการผลิตยาและเวชภัณฑ์ครบวงจร พร้อมกับงาน Medlab Asia & Asia Health 2022 ระหว่างวันที่ 19-21 ตุลาคม 2565 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี   พร้อมถอดบทเรียนจัดการยาและเวชภัณฑ์เพื่อรับมือการระบาด โรคอุบัติใหม่และสังคมสูงวัยในอนาคต  เพิ่มมูลค่ายาสมุนไพรไทยด้วยงานวิจัย พร้อมผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาค

นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร ผู้อำนวยการกลุ่มงานภูมิภาคอาเซียน บริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย จำกัด  กล่าวถึงความสำคัญและโอกาสของอุตสาหกรรมยาไทยบนเวทีโลกว่า  “อุตสาหกรรมยาก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของภาครัฐ (New S-curve)  ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ ซึ่งปัจจุบั ตลาดยาในประเทศมีมูลค่าประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ใหญ่เป็นลำดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรองเพียงอินโดนีเซียเท่านั้น  ประกอบกับหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา

ทำให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมยาทั้งในแง่การผลิตให้เพียงพอกับความต้องการ และการค้นคว้าวิจัยเพื่อการรักษา การจัดงานซีพีเอชไอ เซาธ์ อีสต์ เอเชีย 2022 ในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดจากการจัดงานครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2019 ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี  ซึ่งปีนี้ได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการชั้นนำที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ร่วมจัดแสดงนวัตกรรมวัตถุดิบและส่วนประกอบในการผลิตยาจำนวน 200 บริษัท

พร้อมงานสัมมนาด้านยาจากผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ ถือเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจที่ต้องการสนับสนุนอุตสาหกรรมยาไทยให้ก้าวทันต่อโอกาสและความท้าทายที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ และเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก และรายใหญ่ให้เข้าถึงส่วนประกอบยาใหม่ ๆ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตยาของไทยจากปัจจุบันไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าสารออกฤทธิ์ (Active pharmaceutical ingredients, APIs) จากต่างประเทศ มาผลิตยาในขั้นปลายปลายกว่า 90 % ”

นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมยาถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะต่อสู้กับโรคภัย ตลอดจนเป็นปัจจัยที่จะส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้คน  การยกระดับอุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบันและสมุนไพร และการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมผลิตยาให้เพียงพอแก่ความต้องการ โดยในปัจจุบันผู้ผลิตยาในไทยมีจำนวนมากกว่า 150 บริษัท ที่ผ่านมาตรฐานระดับสูงของอุตสาหกรรมยาระดับโลกซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงคุณภาพของยาไทยให้มีชื่อเสียงมากขึ้น นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยาไทย ยังเปรียบได้กับการเป็นกระเป๋ายาที่สำคัญของอาเซียน เนื่องจากเป็นผู้ส่งออกหลักในการส่งยาไทยไปยังกลุ่มประเทศ CLMV คือ ประเทศ กัมพูชา ลาว สหภาพเมียนมาร์ และเวียดนาม ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในอาเซียนให้สามารถเข้าถึงยาคุณภาพดีในราคาเข้าถึงได้”


ภญ.ลลนา เสตสุบรรณ นายกสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน กล่าวเสริมว่า “เพื่อยกระดับมาตรฐานของการอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน และส่งเสริมให้การอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบันในประเทศไทยให้เพียงพอแก่ความต้องการ การเข้าแหล่งของวัตถุดิบและเทคโนโลยีระดับนวัตกรรมถือเป็นเข็มทิศสำคัญของผู้ผลิตยา เพราะนอกจากการศึกษาค้นคว้าและวิจัยแล้ว การเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบผลิตยาก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญให้อุตสาหกรรมยาภายในประเทศก่อเกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้

การจัดงาน “ซีพีเอชไอ เซาธ์ อีสต์ เอเชีย 2022” ได้มีการจัดพื้นที่สนับสนุนการพบปะทางธุรกิจ หรือ Business Matching ภายในงานฯ ซึ่งตรงกับหนึ่งในพันธกิจของ สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน ที่มีการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิด ความเห็นซึ่งกันและกันในระหว่างสมาชิกในเรื่องต่าง ๆ อันเกี่ยวกับการอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบันในประเทศ ถือเป็นโอกาสที่ดียิ่งของบุคคลในแวดวงที่จะมีพื้นที่ให้ก่อเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และต่อยอดทางธุรกิจทางอุสาหกรรมยาอีกด้วย”


ภก
.สุรชัย เรืองสุขศิลป์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า     “กลุ่มอุตสาหกรรมยา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถือเป็นแกนกลางเสริมสร้างความเข้มแข็ง และผลิตภาพอุตสาหกรรมไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสามารถเจรจาต่อรองเพื่อผลประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมของประเทศไทย ซึ่งการจัดงาน“ซีพีเอชไอ เซาธ์ อีสต์ เอเชีย 2022” ถือเป็นตัวกลาง การประสานให้เกิดความร่วมมือที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลและ

ร่วมพัฒนาธุรกิจ การค้า การลงทุน ทั้งในระดับประเทศ และระดับสากล ถือเป็นโอกาสอันสำคัญยิ่งที่การจัดงานฯ จะช่วยพัฒนาสถาบันธุรกิจภาคเอกชนของไทยให้แข็งแกร่ง อันจะทำให้กลไกการพัฒนา ในภาคอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สามารถประสานกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างผลประโยชน์ให้อุตสาหกรรมยาไทยในวงการเศรษฐกิจโลกอีกด้วย”

งาน “ซีพีเอชไอ เซาธ์ อีสต์ เอเชีย 2022” จึงถือเป็นหนึ่งงานสำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศไทย อันจะสามารถสร้างความสนใจให้เกิดขึ้นในวงการอุตสาหกรรมยาและสมุนไพรได้เป็นอย่างมาก โดยไม่ได้เป็นเพียงเวทีที่สนับสนุนในภาคธุรกิจเท่านั้น หากแต่ยังส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเคลื่อนไหวและพัฒนาอุตสาหกรรมยาไทยในทุกด้าน เพื่อให้ไทยสามารถก้าวขึ้นแท่นในฐานะผู้ผลิตยารายสำคัญของโลกได้อย่างภาคภูมิในอนาคต”

ซีพีเอชไอ เซาธ์ อีสต์ เอเชีย 2022 (CPHI South East Asia 2022) หรือ งานแสดงสินค้า เทคโนโลยี และการประชุมด้านวัตถุดิบและส่วนประกอบการผลิตยาสำหรับเภสัชอุตสาหกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่  19-21 ตุลาคม 2565 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อรองรับความต้องการและการเติบโตของอุตสาหกรรมยาในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีการเติบโตทางการตลาดและมีศักยภาพสูง จากกลุ่มประชากรทั้งหมดกว่า 650 ล้านคน
นำไปสู่ความต้องการด้านยาที่เพิ่มขึ้นตาม โดยภายในงานมีบูธแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์กว่า 150  ราย จาก 75 ประเทศทั่วโลก พร้อมทั้งพาวิลเลี่ยนนานาชาติจาก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย จีน อินเดีย เกาหลี มาเลเซีย ระบบจับคู่ทางธุรกิจเพื่อให้ผู้ออกงานและเข้าร่วมงานได้มีโอกาสพบปะเพื่อต่อยอดและสร้างมูลค่าเม็ดงเนทางธุรกิจ ทั้งยังมีการจัดแสดงนวัตกรรมอุตสาหกรรมการผลิตยาที่น่าสนใจ และการจัดสัมมนาวิชาการนานาชาติอีกมากมาย อาทิ การประชุมชี้แจงการยื่นคำขอตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการขอ การออก และการต่ออายุหนังสือรับรองมาตรฐานการผลิตยาแผนปัจจุบันของสถานที่ผลิตยาในต่างประเทศ“ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์” ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนร่วมงานได้ที่ http://www.cphi.com/sea

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You may have missed

Copyright © All rights reserved. | Newsphere by AF themes.